วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

สารคดี เชียงคาน


เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ........ณ เชียงคาน
ครั้งหนึ่งซึ่งได้มาเที่ยวใน เชียงคาน เมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ มีกิจกรรมให้ทำตั้งแต่เช้าไปถึงดึก เหมาะอย่างยิ่งกับวันสบายๆ หนึ่งวันที่เราจะแวะมาเติมพลังพักผ่อนในวันหยุด


        มาวันนี้อดีตของเชียงคานใหม่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความรุ่งเรืองร่วงโรย เดินทางเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวเล็กๆอันสงบงามริมฝั่งโขง ซึ่งอาจไม่เป็นที่ถูกใจเท่าใดนัก สำหรับผู้นิยมแสงสี ความเจริญทางวัตถุสิ่งอำนวยความสะดวก   แต่เชียงคานกลับมีวิถีจริงแท้ของความเรียบง่ายสงบงาม อันเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและน้ำมิตร ให้ผู้คนที่ถวิลหาในบรรยากาศแบบนี้เดินทางไปสัมผัส เพราะยิ่งพลวัตแห่งเทคโนโลยีและความเจริญทางด้านวัตถุขับเคลื่อนหมุนเร็วเท่าใด บ้านเรือนเก่าๆอายุร่วมร้อยปีที่นี่ ก็เป็นจุดดึงดูดผู้คนอีกอย่างหนึ่ง บ้านเรือนแต่ละหลังก็มีความแตกต่างกันไป แต่วิถีชีวิตที่นี่ก็ค่อยๆเปลี่ยนไปเพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด  ก็ยิ่งดูเหมือนว่าจะมีผู้คนเดินหนีจากโลกเทคโนโลยีทีรุมเร้าเข้าสู่ธรรมชาติ และความสงบในจิตใจมากขึ้น

        เริ่มต้นเช้าวันใหม่ที่เชียงคานด้วยการ ตักบาตรข้าวเหนียว ท่ามกลางบ้านเก่าริมโขงร่วมกับผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเช้าวันใหม่แบบวิถีพุทธ ที่เชียงคาน การตักบาตรเช้าจะเอาข้าวเหนียวใส่กระติ๊บแล้วหยิบเป็นก้อนใส่บาตร บ้างก็ใส่กับผลไม้ บ้างก็ใส่แต่ข้าวเหนียว โดยตอนที่ตักบาตรนั้น จะนั่งคุกเข่ากับพื้นเพื่อใส่บาตร ซึ่งหากเป็นที่อื่น ส่วนใหญ่จะยืนเสมอพระตอนตักบาตร นี่แหละครับ เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์เล็กๆในเมืองเล็กๆที่ชื่อว่า เชียงคาน   ผู้คนก็ต่างยิ้มแย้ม อารมณ์ดีกับการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า แต่ก็ยังมีคนอารมณ์ดียิ่งกว่ากับการมาเก็บถาดจำนวนมาก หลังจากที่ผู้มาเยือนตักบาตรเสร็จ แต่คงไม่มีใครคิดอะไรเพราะมันก็เหมือนกับการซื้อสังฆทาน ที่คุ้นเคยตอนอยู่บ้าน มันก็คงไม่น่าแปลกอะไร แต่ถ้านำมาเปรียบเทียบ กับหลายๆบทความที่เขียนถึงเรื่องราวการตักบาตรข้าวเหนียวของเชียงคาน มันก็ไม่เท่ากับการนำเอาวัฒนธรรม มาทำการตลาดสร้างรายได้หรือ กระโดด  แสงแดดเริ่มทอแสงเข้มขึ้น เดินหาที่จิบกาแฟริมโขงดูชาวบ้านหาปลา ในแม่น้ำกับบรรยากาศเบา หลังจากทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และลองท้องด้วยอาหารเบาๆอย่างกาแฟเรียบร้อยแล้วพอสายๆ แดดเริ่มส่อง ท้องก้อเริ่มหิวขึ้นมาเลยแวะไปกิน ข้าวปุ้นน้ำแจ่ว กับ ข้าวปุ้นฮ้อน ก็เดินหาไปเรื่อยๆจนเจอร้านของคุณยายบัวลอย ขายข้าวปุ้นน้ำแจ่วสูตรโบราณ ขายเพียงชามละยี่สิบบาท กลิ่นหอม น่าตาก็น่าทาน รับประทานคู่กับผักสด
     ที่หมายต่อมาเดินไปสถานที่ต่อไป คือ วัดศรีคุนเมือง วัดเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเชียงคาน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2199 ภายในพระอุโบสถ องค์พระประธานปางนาคปรกศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเชียงคานมาแต่โบราณ มีศิลาจารึกหินชนวนประดับที่หน้าโบสถ์อีกด้วย จากนั้นมุ่งหน้าเดินทางต่อสู่วัดที่สอง คือ วัดท่าครกก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2395 โดยเจ้าเมืองเชียงคานในสมัยนั้น คือ พระศรีอรรคฮาด (สีทา) ภายในอุโบสถ ประดับด้วยลายปูนปั้นประดับเพดานและลวดลายเขียนสีโบราณ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดที่ไม่ไกลจากถนนริมโขง ต่อด้วยวัดที่สาม วัดมหาธาตุ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงคาน ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2197 พร้อมเมืองเชียงคาน เจดีย์มหาธาตุเป็นที่สักการะบูชา นับถือ พระอุโบสถเก่าแก่ และศาลาการเปรียญมีภาพเขียนฝาผนังดั้งเดิมมาแต่โบราณ จนภาพค่อนข้างเลือนไปมากแล้ว องค์พระประธานศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวเชียงคานอิ่มบุญมาแล้วทั้งหมด สามวัด          
      แล้วไปดูวิวเมืองเชียงคานในมุมสูงสักหน่อย ด้วยการนั่งรถขึ้นไปบน ภูทอก จุดชมวิวที่สามารถเห็นเมืองเชียงคานได้ทั้งเมือง วิวมุมบนสุดสามารถเห็นเชียงคานคู่ขนานกับแม่น้ำโขงที่ขวางกันแบ่งเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน สัมผัสบรรยากาศยามเย็นของเชียงคาน บรรดาร้านต่างๆเริ่มคึกคักไปด้วยผู้คน ที่ต่างแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชม ถ่ายรูป แวะนั่งเล่นมองผู้คนเดินไปมาที่ ร้าน สำ-ราน-นา เพราะนอกจากจะมีบรรดาเครื่องดื่มแล้ว ยังมีอินเตอร์เน็ตเครื่อง I-Mac ซาลาเปา ให้ได้นั่งเล่น
       เมืองเชียงคานนี้เงียบสงบ บรรยากาศดี ด้วยการที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์แต่ผสมผสานกับความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่มากจนเกินไปได้อย่างลงตัวในแบบฉบับของเชียงคาน ผู้คนที่เชียงคานก็เป็นมิตร อัธยาศัยดี และการไปเที่ยวที่เชียงคานก็ไม่แพงจนเกินกำลัง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเชียงคานแห่งนี้ ก็จะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น หลายๆ สิ่งที่เชียงคานอาจเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม เชียงคานจะไม่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราทุกคนยังคงช่วยกันรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ดำรงวิถีชีวิตในแบบของเชียงคานสืบไป ความเป็นเชียงคานที่คงความเป็นเอกลักษณ์ได้ยาวนานกว่าร้อยปี ก็จะเป็นเช่นเดิมตลอดไป
       ในประเทศไทยของเรา มีบ้านเรือนเก่าแก่มากมาย ที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และธรรมชาติ เก่าๆไว้ แต่เมืองเก่าๆหลายเมืองในประเทศไทย ได้ถูกปรับเปลี่ยน ปรับปรุงพัฒนา ปลุกชีวิตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เมืองเก่าอายุกว่า 100 ปี ริมโขง ที่เชียงคาน จังหวัดเลย   จริงๆ เชียงคานยังมีเรื่องราวให้พูดได้ไม่รู้จบ เวลาเพียงแค่ 2-3 วัน คงไม่สามารถเข้าถึงคำว่า "เสน่ห์" ของเชียงคานกับความรู้สึกนี้ เหมือนกับที่ชาวเชียงคานสะท้อนไว้

       หลายคนอาจจะบอกฉันว่า...เชียงคานคือปายแห่งที่สอง สำหรับฉัน สถานที่แต่ละแห่งล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง อาจจะมีบางอย่างที่คล้ายแต่คงไม่เหมือนและไม่ใช่ฉันไม่อยากให้เชียงคานเป็นเหมือนปายตอนนี้  ที่ต้องแย่งกันกิน แย่งกันใช้ แย่งกันไป  แย่งกันเที่ยว     อยากให้เชียงคานเป็นแบบเชียงคานที่มีความเป็นวิถีชีวิต มีความเรียบง่าย มีรอยยิ้ม มีน้ำใจ และมีทะเลหมอกบนภูทอกที่บริสุทธิ์และงดงาม จนไม่สามารถหาได้จากที่อื่น

1 ความคิดเห็น: